ลักษณะของวงดนตรีพื้นบ้าน
วงดนตรีพื้นบ้าน เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงในแต่ละท้องถิ่น เป็นกิจกรรมที่มีบทบาทอยู่เฉพาะในวิถีชีวิตของสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ ซึ่งวงดนตรีพื้นบ้านในแต่ละภาคที่ควรรู้จัก มีดังนี้
๑.วงดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ ประกอบไปด้วยวงกลองแอว วงสะล้อ-ซึง วงกลองมองเซิง วงกลองปูเจ่ วงปี่จุม ส่วนโอกาสที่ใช้ในการบรรเลงมีความแตกต่างกันไป อาทิ วงกลองแอว จะนิยมใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนเมือง วงกลองมองเซิง นิยมใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนมองเซิง
เครื่องดนตรีมี่ใช้บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือที่สำคัญๆ ได้แก่ พิณเปี๊ยะ ซึง สะล้อ ปี่จุม กลองแอว กลองสะบัดชัย กลองตะโล้ดโป๊ด เป็นต้น
๒.วงดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง ประกอบไปด้วยวงปี่พาทย์พื้นบ้าน วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์มอญ วงเครื่องสาย ส่วนโอกาสที่ใช้ในการบรรเลงมีความแตกต่างกันไป เช่น วงปี่พาทย์มอญและวงปี่พาทย์นางหงส์ นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ วงเครื่องสายนิยมใช้บรรเลงในงานมงคลต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานรื่นเริงต่างๆ เป็นต้น
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้านภาคกลางที่สำคัญๆ ได้แก่ จะเข้ ขลุ่ย ซออู้ ซอด้วง ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ปี่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ โหม่ง เป็นต้น
๓.วงดนตรีพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วยวงโปงลาง วงกันตรึม วงตุ้มโมง วงแคน โอกาสที่ใช้บรรเลงนิยมบรรเลงในงานแตกต่างกันไป เช่น ใช้ในการบรรเลงเพื่อประกอบการแสดงพื้นบ้านประเภทเซิ้งกระติบข้าว เซิ้งสวิง ฟ้อนภูไท ส่วนวงตุ้มโมงใช้บรรเลงในงานศพ ซึ่งปัจจุบันหาดูและหาฟังได้ยาก
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญๆ ได้แก่ แคน โปงลาง พิณ โหวด ซอบั้งไฟ ฆ้องหุ่ย หมากกับแก๊บ (กรับ) เป็นต้น
๔.วงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ ประกอบไปด้วยวงกาหลอ วงปี่พาทย์ชาตรี วงรองเง็ง วงโต๊ะครึม วงดนตรีโนห์รา วงดนตรีหนังตะลุง วงดนตรีซีละ วงดนตรีมะโย่ง วงดนตรีลิเกป่า โอกาสที่ใช้บรรเลงนิยมบรรเลงในงานแตกต่างกันไป เช่น วงกาหลอ ใช้บรรเลงในงานศพ วงดนตรีหนังตะลุง ใช้บรรเลงประกอบการแสดงหนังตะลุงโนห์รา เป็นต้น
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ที่สำคัญๆ ได้แก่ ทับ รำมะนา กลอง โหม่ง ฆ้องคู่ กลองชาตรี กรือโต๊ะ รือบับ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น